การลดและการใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย
การลดและการใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย
การลดปริมาณขยะมูลฝอย
การลดปริมาณขยะมูลฝอยให้ได้ผลดีต้องเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ทำให้ได้วัสดุเหลือใช้ที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไป Reused-Recycle ได้ง่าย รวมทั้งปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องนำไปกำจัดมีปริมาณน้อยลงด้วย ซึ่งการคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดนั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละชุมชน เช่น ครัวเรือน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน บริษัท สถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งปริมาณ และลักษณะสมบัติขยะมูลฝอยที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้การคัดแยกขยะมูลฝอยสามารถดำเนินการได้ 4 ทางเลือก คือ
ทางเลือกที่ 1 การคัดแยกขยะมูลฝอยทุกประเภทและทุกชนิด
ทางเลือกที่ 2 การคัดแยกขยะมูลฝอย 4 ประเภท (Four cans)
ทางเลือกที่ 3 การคัดแยกขยะสด ขยะแห้ง และขยะอันตราย (Three cans)
ทางเลือกที่ 4 การคัดแยกขยะสดและขยะแห้ง (Two cans)
ตารางเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก
ทางเลือกที่ | รูปแบบ | ภาชนะรองรับ ขยะมูลฝอย | ข้อดี | ข้อเสีย | สรุปผลงาน |
1 | แยกขยะมูลฝอยที่ใช้ได้ไหม่ ทุกประเภทและแยกขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดแต่ละวิธีได้ | แบ่งตามประเภทขยะมูลฝอย | วัสดุที่นำกลับไปใช้ประโยชน์มีคุณภาพดีมาก | -พาหนะเก็บขนต้องมีประสิทธิภาพสูงสามารถเก็บขนมูลฝอยที่แยกได้หมด - เพิ่มจำนวนภาชนะรองรับขยะมูลฝอยมากขึ้น | ดีมาก |
2 | แยกขยะมูลฝอย4 ประเภท (Four cans) | แบ่งเป็นถังขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะย่อยสลายได้และขยะอันตราย | วัสดุที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่มีคุณภาพดี | -เพิ่มจำนวนภาชนะรองรับขยะมูลฝอยมากขึ้น | ดี |
3 | แยกขยะสด ขยะแห้งและขยะอันตราย (Three cans) | แบ่งเป็นถังขยะสด ขยะแห้ง และขยะอันตราย | ง่ายต่อการนำขยะสดไปใช้ประโยชน์และขยะอันตรายไปกำจัด | - วัสดุที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ยังปะปนกันอยู่ไม่ได้แยกประเภท | พอใช้ |
4 | แยกขยะสดและขยะแห้ง (Two cans) | แบ่งเป็นถังขยะแห้งและขยะเปียก | ง่ายต่อการนำขยะเปียกใช้ประโยชน์ | - สับสนต่อนิยามคำว่าขยะเปียก ขยะแห้งทำให้ทิ้งไม่ถูกต้องกับถังรองรับ | ต้องปรับปรุง |
จากตารางข้างต้น จะเห็นว่า ทางเลือกที่ 1 สามารถรวบรวมวัสดุที่จะนำมาใช้ใหม่ได้ในปริมาณมาก และมีคุณภาพดีมาก แต่เนื่องจากประชาชนอาจจะยังไม่สะดวกต่อการคัดแยกขยะมูลฝอยทุกประเภท ดังนั้น ในเบื้องต้นเพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อการคัดแยกขยะมูลฝอยควรเริ่มที่ทางเลือกที่ 2 คือแบ่งการคัดแยกออกเป็น 4 กลุ่ม (ขยะรีไซเคิล ขยะย่อยสลายได้ ขยะทั่วไป และขยะอันตราย) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำขยะมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่และสะดวกต่อการกำจัด อย่างไรก็ตามการจะปรับปรุงรูปแบบการจัดวางภาชนะรองรับขยะมูลฝอยหรือไม่นั้นจะต้องประเมินผลโครงการในระยะแรกก่อน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น